วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

EP 21: ตามหาความสุข


EP 21: ตามหาความสุข




          เมื่อวานตอนอ่านนิยาย ตัวละครพูดประโยคหนึ่งที่น่าประทับใจมาก...

          เขาพูดว่า "ผมไม่เชื่อในตัวคนที่พยายามทำทุกวิถีทางให้คนอื่นมีความสุขทั้งๆที่ตัวเองไม่มีความสุขหรอก เพราะมนุษย์ที่ไม่มีความสุข ย่อมไม่สามารถยินดีกับความสุขของผู้อื่นได้จากใจจริง คนที่ทำให้ตัวเองมีความสุขก่อน แล้วค่อยทำให้คนอื่นมีความสุขด้วยต่างหากล่ะ ถึงจะเป็นคนที่ผมสามารถเชื่อมั่นในตัวเขาได้อย่างแท้จริง..."

          เป็นการมองความสุขในอีกแง่มุมหนึ่งเลยเนอะ ต่างจากแนวคิดปรกติที่คนเรามักพูดกันว่า 'จงมอบความสุขให้กับผู้อื่นก่อน แล้วความสุขนั้นจะมาหาเราเอง' คนละขั้วเลย

          เอาเป็นว่า จะชื่นชอบแนวคิดแบบไหนก็นานาจิตตังค่ะ...แต่อย่างหนึ่งที่ทุกคนน่าจะคิดเหมือนกันก็คือ คำพูดนี้ชวนให้ครุ่นคิดถึงเรื่องต่างๆเกี่ยวกับความสุข แล้วพอพูดถึงความสุขในภาษาญี่ปุ่น...แน่นอนว่ารูปประโยคนี้ลอยขึ้นมาก่อนเลย

          「幸せになる」

   แปลว่า (กลายเป็น)มีความสุข เป็นรูปประโยคที่มักจะได้ยินบ่อยมากจนถึงมากที่สุด...ความจริงคือไม่เคยได้ยินรูปประโยคอื่นนอกเหนือจากอันนี้เลย =_=; จะมีอยู่บ้างอีกอันหนึ่งคือ 幸せになろうよ (มามีความสุขกันเถอะ) ซึ่งก็ผันมาจากรูปประโยคนี้อีกนั่นแหละ มันช่างชวนให้สงสัยเหลือเกินว่า คำว่า 'ความสุข' ในภาษาญี่ปุ่น ใช้กับคำกริยาหรืออะไรอื่นๆนอกจาก になる ได้บ้างมั้ยเนี่ย

          เอาล่ะค่ะ วันนี้เราจะมาตามหา (コロケーション ของคำว่า) 'ความสุข' กันนะคะ :D
          อาศัยเว็บ NINJAL เจ้าเก่าอีกเช่นเคย เจอคำที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

  幸せにする เช่น 「見る者を幸せにする姿」"ตัวตนที่ทำให้ผู้ที่มองอยู่มีความสุข" หรือก็คือแปลว่า ทำให้・・・มีความสุขนั่นเอง

  幸せに暮らす เช่น 「あと彼女は天国で幸せに暮らしている?」หมายความว่า ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข แบบที่ได้ยินบ่อยๆในตอนจบของนิทานก่อนนอน

  幸せに思う เช่น 「ここへ来るのは、本当に楽しいし、お父さんとお母さんに逢えたことを、ぼくは、どれほど幸せに思っているか分りません」แปลว่า มีความสุข นั่นเอง ไม่ใช่คิดอย่างมีความสุขนะคะ 55 โอ้วว ในที่สุดก็รู้ซะทีว่า มีความสุข ตรงๆต้องพูดว่ายังไง ก่อนหน้านั้นพูดไม่เป็นเพราะรู้จักแต่ 幸せになる =_=; เลยใช้แต่ 嬉しいです บ่ายเบี่ยงมาตลอด

        幸せにできる เช่น 「多分、君が出会うどんな相手よりも幸せにできる」แปลว่า (สามารถ)ทำให้มีความสุข(ได้) นั่นเอง

        幸せに浸る เช่น 「昔好きだったアニメのDVDを買いあさって幸せに浸っている」จมอยู่ในความสุข, มีความสุขมากๆ

  ส่วนคำกริยาก็มี

         幸せを感じる 「相手を見つめることだけで幸せを感じる」ตรงตัวเลยค่ะ คือแปลว่า มีความสุข นั่นเอง โอ้โห เจอคำว่า มีความสุข อีกแบบแล้ว

  幸せを願う・祈る 「女の子の健康と幸せを祈る日」อันนี้ก็ตรงตัวอีกเหมือนกัน คือ การภาวนาหรือขอพรให้มีความสุข

  幸せを掴む・求める 「その手で、幸せを掴んでみてよ」ไขว่คว้าหาความสุขมาไว้ในกำมือ!

  幸せをもたらす・運ぶ 「彼はこの家の娘に幸せをもたらすだろうか」นำมาความสุขมาสู่...

  幸せをかみしめる 「もう分身みたいなもので・・本当に結婚してよかったーと幸せをかみしめてます」คำนี้ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ เลยไปหาคำแปลญี่ปุ่นมาเพิ่ม ได้ว่า 物事の味わい、深い意味などを十分に感じ取る แล้วก็ดูจากประโยค เลยคิดว่าน่าจะหมายถึง รู้จักความสุขอย่างลึกซึ้ง อะไรเทือกนี้

          เป็นยังไงบ้างคะ พอได้รู้ว่า 'ความสุข' หรือ 「幸せ」ในภาษาญี่ปุ่นมีการใช้เยอะแยะหลายรูปแบบขนาดนี้ก็แอบตกใจ ^^" ถือว่าเป็นการเพิ่มพูนเพื่ือนๆให้กับ 「幸せになる」ที่นอนทอดตัวอย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างเดียวดายอยู่ในคลังศัพท์ได้มากโขเลยทีเดียว  วันนี้ก็ต้องขอตัวลาเท่านี้ค่ะ มัวแต่ตามหา(คำว่า)ความสุขจนมึนเลย ไว้พบกันใหม่โอกาสหน้า ปิดเทอมอย่างนี้ก็ขอให้มีความสุขกันถ้วนหน้านะคะ55

ⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷ






日本語の宇宙人 (ต่างด้าวบนดาวภาษาญี่ปุ่น)
เป็นบล็อกที่มีไว้เพื่อบันทึกประสบการณ์การใช้ภาษาญี่ปุ่น
โดยจะเน้นในเรื่องของการพูดและคำศัพท์
ถือเป็นงานส่วนหนึ่งในวิชา Applied Japanese Linguistic
ของนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          

  
          

วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2557

EP 20: เจ๊า


EP 20: เจ๊า


「その大須賀さんが隣に引っ越してくれるなんて超ラッキー」

「こちらこそ、まさか隣があの川島大志さんだなんて思いもよらなかったですよ」

「あ、なんだ。ご存知だったんですか」

「僕もあのあと思い出したんです」

「じゃ、あいこですね」

          สวัสดีฮะทุกคน ยังจำนิยายที่พูดถึงไปเมื่อตอนที่แล้วได้รึเปล่า...ที่พระเอกของเราเพิ่งย้ายบ้านแล้วมีหนุ่มหน้ามนไม่น่าไว้วางใจมาอาสาช่วยขนของ วันนี้เราก็จะนำเสนอคำศัพท์ใหม่ที่ได้จากนิยายเรื่องนี้อีกเช่นเคย 

          บทสนทนานี้อยู่ในบทที่ 2 ต่อจากตอนที่พระเอกย้ายบ้านพอดีค่ะ แปลไทยได้คร่าวๆตามนี้

          "โอะซุกะซังคนนั้นย้ายมาอยู่ข้างบ้านแบบนี้ โชคดีสุดๆไปเล้ย"
          "ผมเองก็เหมือนกัน ไม่คิดไม่ฝันมาก่อนว่าเพื่อนข้างบ้านของผมจะเป็นคุณ คะวะชิมะ ไทชิ"
          "อ๊ะ อะไรกัน รู้จักผมอยู่แล้วเหรอครับ"
          "ผมเพิ่งนึกออกทีหลังน่ะ"
          "อย่างนี้ก็เจ๊ากันสินะครับ"

          เรื่องของเรื่องคือ พระเอกของเรามีชื่อว่าโอะซุกะ เป็นนักเขียนนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวนที่มีชื่อเสียงมาก ส่วนหนุ่มหน้ามนที่พยายามมาช่วยขนของ แม้จะดูไม่น่าไว้วางใจแต่พระเอกก็รู้สึกคุ้นหน้าอย่างประหลาด นึกไปนึกมาก็ถึงกับบางอ้อ อ้าว นี่มันคะวะชิมะ ไทชิ ดาราหนุ่มที่กำลังดังอยู่ตอนนี้นี่หว่า ทำไมถึงกลายมาเป็นเพื่อนบ้านเราซะได้ ฝ่ายไทชิเองก็คุ้นหน้าโอะซุกะอยู่เหมือนกัน นึกไปนึกมาก็เพิ่งนึกออกว่า อ้าว นั่นมันนักเขียนนิยายชื่อดังเจ้าของผลงานที่เราชอบอ่านนี่หว่า ต่างฝ่ายต่างเพิ่งนึกออก แถมยังเป็นคนดังที่บังเอิญมาอาศัยอยู่ใกล้ๆกันอีก ไทชิเลยพูดออกมาว่า 「じゃ、あいこですね」งั้นพวกเราก็เจ๊ากันสินะครับ

          ทีนี้ มาดูกันดีกว่าค่ะว่าเจ้า あいこ ตัวนี้เนี่ยมีความหมายในภาษาญี่ปุ่นประมาณไหน และเอาไปใช้แบบไหนได้บ้าง

          あいこ หมายความว่า 互いに勝ち負けや損得のないこと คือไม่แพ้ไม่ชนะ ไม่ได้ไม่เสีย นั่นเองค่ะ ส่วนวิธีใช้ นอกจากในบทสนทนาที่ยกมาข้างบนแล้ว พอลองหาประโยคตัวอย่างอื่นๆ ก็...แทบจะไม่เจอเลยค่ะ เจอแต่ดาราชื่อไอโกะ (ก๊ากๆ) ที่พอเจออยู่บ้างก็มี

          じゃんけんぽん,あいこでしょ。
   これでおあいこだ。-> มีเขียนกำกับไว้ว่า ส่วนมาก あいこ จะปรากฎในรูปที่มีการเติม お ข้างหน้าด้วย
         
          สรุปก็คือ จะใช้ว่า あいこ หรือ おあいこ ก็ได้ และไม่ต้องใช้คู่กับคำกริยา แต่สามารถพูดโดยใช้เป็นคำนาม คือเติม -だ・です ได้เลย...โธ่ อดหา コロケーション เลยค่ะ เศร้า 55



          

ⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷ






日本語の宇宙人 (ต่างด้าวบนดาวภาษาญี่ปุ่น)
เป็นบล็อกที่มีไว้เพื่อบันทึกประสบการณ์การใช้ภาษาญี่ปุ่น
โดยจะเน้นในเรื่องของการพูดและคำศัพท์
ถือเป็นงานส่วนหนึ่งในวิชา Applied Japanese Linguistic
ของนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          

วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

EP 19: อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน


EP 19: อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน


「引越したばかりでしょう?じゃ、荷物の整理とか大変でしょ?何なら手伝いますよ」

「いえ、そんな・・・」

「あー、今下心ありィとか思ったでしょう」

「いや、別に・・・」

          บทสนทนานี้มาจากนิยายเรื่องหนึ่งที่ได้อ่านเมื่อไม่นานมานี้ (แอบอ่านช่วงสอบเพื่อความกระชุ่มกระชวยหัวใจนั่นเอง...หรือกำแพงภาษาจะทำให้ปวดหัวกว่าเดิมก็ไม่รู้สิ 555) กระทาชายนายหนึ่งซึ่งก็คือพระเอกของเรื่อง เพิ่งย้ายบ้านไปอยู่ในเมืองๆหนึ่งซึ่งเขาไม่รู้จักใครเลย แต่จู่ๆก็มีหนุ่มหน้ามนผู้หนึ่งมาเคาะประตูบ้าน ถามเสียงใสว่า เพิ่งย้ายมาใช่มั้ย ให้ผมช่วยจัดของมั้ยครับ แน่นอนว่าพระเอกของเราย่อมปฏิเสธตามหลักที่ทุกคนถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กๆ 'อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน' ไม่ครับ ไม่ต้องช่วยหรอก ผมทำเองได้ ลงเอยเลยโดนหนุ่มข้างบ้านสวนกลับมาว่า อ้อ คิดว่าผมมีจุดประสงค์แอบแฝงอะไรเทือกนั้นงั้นเหรอครับ เล่นเอาพระเอกติดสตันท์ไปเลย...เออ จี้ใจดำตรงเผง! 

          คำที่จะนำเสนอวันนี้ ก็คือคำที่พระเอกเราโดนสวนกลับไป 'มีจุดประสงค์แอบแฝง' หรือก็คือ 「下心あり」นั่นเองค่ะ

          ก่อนอื่นมาดูความหมายของคำว่า 下心 กันก่อนดีกว่า...

          dictionary.goone ได้กระซิบบอกมาว่า 下心 นั้นคือ
          1 心の奥深く思っていること。心底。本心。 สิ่งที่คิดอยู่ในใจ
          2 心に隠しているたくらみごと。แผนการที่ซ่อนอยู่ในใจ

           เห็นแบบนี้แล้ว 下心 ก็ดูเหมือนจะมีความหมายทั้งในแง่กลางๆ และในแง่ลบ ทีนี้เราลองมาหาประโยคตัวอย่างกันบ้างดีกว่า
            彼女にとても親切にしているようだけれど, 何か下心でもあるのかしら。
   彼はあの時は既に止めようという下心があったのだね。
   あの女は彼を虜にしようという下心がある。
   ดูเหมือนเวลาใช้จะมีแต่ความหมายในแง่ลบทั้งนั้น

            ทีนี้มาดูว่า การมีจุดประสงค์แอบแฝงเนี่ย ใช้คำอื่นนอกจาก ・・・がある ได้รึเปล่า
            พอลองดูจาก NINJAL สุดที่รักก็พบว่า มีทั้ง 下心を持つ กับ 下心を抱く ด้วย

            สรุปว่าได้ความรู้เรื่องคำว่าจุดประสงค์แอบแฝงไปพอตัว สามารถใช้ได้ คราวหน้าคราวหลังเวลามีคนแปลกหน้ามาเคาะประตู พยายามจะขอเข้าไปในห้องเรา ให้บอกไปเลยค่ะว่า ไม่!! พอเขาถามว่าเพราะอะไร ก็ตอบทันที 

   「下心がありそうだから!」

    แน่นอนว่าใช้ได้กับเฉพาะคนแปลกหน้าชาวญี่ปุ่นเท่านั้นนะจ๊ะ...เพราะถ้าเป็นชาติอื่นจะฟังไม่ออก (...บอกทำไมเนี่ย555)



ⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷ






日本語の宇宙人 (ต่างด้าวบนดาวภาษาญี่ปุ่น)
เป็นบล็อกที่มีไว้เพื่อบันทึกประสบการณ์การใช้ภาษาญี่ปุ่น
โดยจะเน้นในเรื่องของการพูดและคำศัพท์
ถือเป็นงานส่วนหนึ่งในวิชา Applied Japanese Linguistic
ของนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          

วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

EP 18: ติดเรท


EP 18: ติดเรท




          ก่อนอื่น...ขอประทานโทษทุกท่านที่ผ่านมาก่อนนะคะ...แต่...บทความในตอนนี้จะขอติดเรทเล็กน้อยค่ะ แฮะๆ (_ _) 

          เพราะศัพท์ที่ไปค้นและจะนำมาเสนอในวันนี้ คือคำว่า 'มีอะไรกัน...' เอิ้ก...อย่าเพิ่งทำหน้าแบบนั้นค่ะ ไม่ได้เป็นคนลามกอะไรเล้ย (//เสียงสูง) แค่นั่งดูการ์ตูนเรื่องหนึ่ง แล้วในเรื่องตัวละครพูดกับตัวเองว่า 'มีอะไรกับแฟนแล้ว...' แต่แทนที่จะใช้คำว่า エッチした、セックスした หรือแม้แต่คำแสลงอย่าง 抱いた ซึ่งทั้งสามคำนี้เป็นคำที่ทุกคนน่าจะพบเห็นบ่อย ตัวละครตัวนั้นกลับพูดว่า

          「体を重ねた」

   เป็นงงค่ะ...เอ๊ะ มันคืออะไร...体 คือร่างกาย ส่วน 重ねるแปลว่า วางซ้อน ซ้อนทับ...ชะอุ่ย พอแปลตรงตัวแล้วเห็นภาพเชียว =,,,= สรุปก็คือแปลว่า 'มีอะไรกัน' เหมือนกับอีกสามคำที่ว่ามาก่อนหน้านั่นเอง แต่สิ่งที่เอเลี่ยนอย่างเราสงกะสัยก็คือ เอ๊ะ...ภาษามันดูสวยๆแบบบอกไม่ถูกยังไงก็ไม่รู้เนาะ แบบน่าจะเป็นสำนวนในหนังสือ ไม่น่าจะใช่ภาษาพูดทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ว่าจะดูอีกสักกี่ตอน เจ้าตัวเอกในเรื่องก็ยังคงใช้ 「体を重ねた」คำเดิมไม่เปลี่ยนทั้งเรื่องเลย...

           (...มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยแล้วว่าเอ็งดูการ์ตูนอะไรของเอ็งเนี่ย พูดคำนี้ทั้งเรื่องเนี่ยนะ ซึ่งนั่น...ไม่ใช่ประเด็นค่ะ!! 55555 เราโฟกัสที่ความรู้กันดีกว่าเนอะ ความรู้ๆ)

          พอเลยเสิร์ชคำว่า 体を重ねる ลงในอากู๋ผู้รอบรู้ ก็ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจมากค่ะว่ามีกระทู้ที่คนญี่ปุ่นตั้งเพื่อปรึกษาปัญหาชีวิตหลายกระทู้เลยที่ใช้คำว่า 体を重ねる ซึ่งแน่นอนว่าในกระทู้ย่อมไม่มีใครใช้ภาษาวรรณกรรมมาบรรยายปัญหาชีวิตของตัวเป็นแน่แท้ เลยเป็นอันสรุปได้ว่า 体を重ねる สามารถใช้เป็นภาษาพูดทั่วๆไปได้ ไม่แปลกแต่อย่างใด

          ต่อมา เริ่มสังเกตเห็นกระทู้ที่ปรากฎคำๆนี้แต่ละกระทู้...อุแม่เจ้า อะไรกันเนี่ย...

          「体だけの関係の男性を好きになってしまった。いけないとわかりつつも体を重ねてしまいます。」
   「体を重ねても愛には届かない。」
   「体は重ねても心は別にある男たち。」

   มีแต่ดราม่าๆทั้งนั้นเลย...แต่จากกระทู้เหล่านี้ก็พอจะอนุมานได้ว่า 体を重ねる น่าจะมีนัยว่าเป็นการมีความสัมพันธ์กันทางกายอย่างเดียว ไม่มีเรื่องหัวใจมาข้องเกี่ยว พอลองเปิดดิคชันนารี ญี่ปุ่น-อังกฤษ ก็เห็นเขาเขียนคำแปลไว้ว่า slept with...ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นความสัมพันธ์ทางกายเหมือนกัน แต่น่าเสียดายว่าในดิคชันนารีญี่ปุ่น - ญี่ปุ่น ไม่มีคำนี้เขียนไว้ เลยไม่แน่ใจว่าที่สรุปมานั้นถูกต้องมากน้อยแค่ไหน

            ใครมีความเห็นอื่นก็แชร์กันมาได้นะคะ



ⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷ






日本語の宇宙人 (ต่างด้าวบนดาวภาษาญี่ปุ่น)
เป็นบล็อกที่มีไว้เพื่อบันทึกประสบการณ์การใช้ภาษาญี่ปุ่น
โดยจะเน้นในเรื่องของการพูดและคำศัพท์
ถือเป็นงานส่วนหนึ่งในวิชา Applied Japanese Linguistic
ของนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

       
      


วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

EP 17: นานาข้อสอบ


EP 17: นานาข้อสอบ

ภาพประกอบในตอนนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด...แค่อยากใส่55555

          สวัสดีค่ะ หลังจากที่แปรสภาพเป็นซากอ้อยอยู่กว่าหนึ่งสัปดาห์เพราะมีสอบวิชาภาษาญี่ปุ่นทุกวันตั้งแต่วันจันทร์จนถึงวันศุกร์ไม่มีหยุดหย่อนและอ่านหนังสือไม่ทัน (T_T) ในที่สุดซากอ้อยก็คืนสภาพกลับมาเป็นมนุษย์(ต่างดาว)แล้วล่ะค่ะเพราะสอบเสร็จหมดแล้ว (...ไม่นับวิชาคณะอีก 2 ตัวที่เหลือ...ซึ่ง....ช่างเถอะ ไม่ทำร้ายจิตใจได้สาหัสสากรรจ์เหมือนวิชาภาษาดาวญี่ปุ่นร้อก ฮือ ฮือ)

          หลังจากสอบ(วิชาเอก)เสร็จ นักเรียนต่างด้าวผู้สุดแสนจะขยันอย่างเราก็รีบมาอัพบล็อกต่อทันที...! ฮั่นแน่ ไม่ต้องทำหน้าตาไม่เชื่ออย่างนั้น555 ก็รู้อยู่ว่าเป็นเรื่องล้อเล่น แฮะๆ...ความจริงคือ หลังจากสอบเสร็จเราก็รีบไปดูซีรีย์ที่ดองเค็มไว้ทันทีค่ะ ซึ่งก็คือ...แท่นแทนแท้นนน คุณมนุษย์ต่างดาว(ไม่แน่ใจว่ามาจากดาวดวงเดียวกันรึเปล่า)โทมินจุน You who came from the stars นั่นเอง! (ดูภาพประกอบได้ข้างบน ฮ่าๆ) โอ้ยย สนุกมากเลย นั่งดูอย่างขะมักขะเม้นยิ่งกว่าหนังสือสอบซะอีก เอาล่ะ ก่อนที่จะหลุดโลกกับโทมินจุนมากไปมากกว่านี้ ก็ขอพักเบรค ทำอะไรมีสาระอย่างการอัพบล็อกบ้างดีกว่าเนอะ (...แล้วค่อยไปดูโทมินจุนต่อ อิอิ)

          เนื่องด้วยชีวิตถูกข้อสอบทำร้าย...หายใจเข้าออก จะหลับจะนอนเป็นต้องรีบอ่านหนังสือ จึงบังเกิดความสงสัยเล็กๆเกี่ยวกับข้อสอบว่า เฮ้ย...เรียนภาษาญี่ปุ่นมาตั้งห้าหกปี แต่นอกจาก 難しい กับ 簡単・やさしい แล้ว เราแทบไม่ใช้คำอื่นบรรยายสภาพข้อสอบเลยนี่หว่า...ด้วยเหตุนี้จึงลองไปหามาโดยใช้บริการคุณ NINJAL เจ้าประจำรองจากอากู๋กูเกิ้ลนั่นเอง เจอผลลัพธ์ที่น่าสนใจตามนี้ค่ะ...

          高い試験 ・ 厳しい試験 ・ 詳しい試験 ・ 過酷な試験 

  จะขออธิบายเป็นคำๆไปนะคะ

         高い試験 นี่ไม่ได้หมายความว่าข้อสอบแพงหรือข้อสอบสูงแต่อย่างใด (ขำมั้ยเนี่ย) แต่หมายถึง レベルが高い試験 ค่ะ สถานการณ์ที่ใช้ก็ประมาณว่า สมศรีเรียนภาษาญี่ปุ่นแค่ฮิรางานะ กับคาตาคานะ ระดับยังเบบี๋ แต่อาจารย์ดันออกข้อสอบโดยใช้คันจิ อุแม่เจ้า อย่างนี้สมศรีต้องอุทานเลยค่ะ 高い試験!เวลมันสูงเกินกว่าที่ศรีจะทนได้!!

        厳しい試験 ตรงตัวเลยค่ะ ข้อสอบที่เข้มงวด โหดหิน ฆ่ากันเลย ตัวอย่างการใช้เช่น สมศรีจะสอบเข้าอักษรฯ คนสอบเป็นหมื่นรับแค่สามคน โหย เข้มงวดเกินไปแล้ว เอามีดมาแทงกันเลยดีกว่า อย่างนี้เป็น 厳しい試験

       詳しい試験  อันนี้ความหมายตรงตัวเหมือนกัน หมายถึงข้อสอบที่ละเอียด เช่น สมศรีถูกถามในข้อสอบว่า...หน้าห้า บรรทัดที่สาม ในหนังสือเรียนมีการพิมพ์ตัวหนาหรือไม่... โหย'จารย์ ละเอียดไปป่าว 詳しい試験 จริงๆ

       มาถึงตัวสุดท้าย 過酷な試験 ตัวนี้เป็นศัพท์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนค่ะ 過酷 อ่านว่า かこく แปลว่า โหดเหี้ยม ไร้ความปรานี (โหยคำแปลโหดมาก555) 
       ตัวอย่างประโยคที่เจอคือ 量もはんぱじゃなく、リスニングもあり、120分という試験時間ではかなり過酷な試験です。ปริมาณก็ไม่ใช่น้อยๆ แถมยังมีข้อสอบฟังอีก ให้เวลาทำแค่ 2 ชั่วโมงแบบนี้เลือดเย็นเกินไปแล้ว!! (ตัวอย่างตรงใจสุดๆไปเลย5555) สรุปก็คือเป็นข้อสอบที่โหดเหี้ยมดูดวิญญาณผู้ทำได้นั่นเองแหละค่ะ สำหรับศัพท์คำนี้ สมศรีไม่ต้องละ พิชญ์สินีมาเอง เผชิญให้ดูมาแล้วเป็นตัวอย่าง...ข้อสอบสัปดาห์ที่แล้วมันดูดวิญญาณมากๆ โหดซะจนตอนทำมือไม้สั่น กลับบ้านมาแล้วน็อคเอาท์ 過酷な試験だああ!!!

  โอเค...ก็ได้รู้ศัพท์ไปบรรยายความยาก หิน ละเอียดยิบยับ และโหดเหี้ยมไร้เทียมทานของข้อสอบกันแล้วนะคะ หวังว่าสัปดาห์หน้า อีกสองวิชาที่เหลือคงไม่ต้องทำให้ใช้คำใดคำหนึ่งในนี้...วันนี้ขอจบเท่านี้เพื่อไปดูโทมินจุน...หนีความเป็นจริงอันโหดร้ายต่อก่อนนะคะ ฮ่าๆๆๆ
  


ⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷ






日本語の宇宙人 (ต่างด้าวบนดาวภาษาญี่ปุ่น)
เป็นบล็อกที่มีไว้เพื่อบันทึกประสบการณ์การใช้ภาษาญี่ปุ่น
โดยจะเน้นในเรื่องของการพูดและคำศัพท์
ถือเป็นงานส่วนหนึ่งในวิชา Applied Japanese Linguistic
ของนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

       
      
          

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

EP16: ไร้สาระว่ะ


EP16: ไร้สาระว่ะ



          ไร้สาระว่ะเฮ้ย!...เห็นชื่อตอนโหดๆแบบนี้อย่าเพิ่งตกใจไป ไม่ได้จะมาด่าใคร แค่วันนี้จะมาพูดเรื่องคำว่า 'ไร้สาระ' แบบมีสาระ ก็เท่านั้นเอง ^^"

          เหตุเกิดเมื่อตอนที่แปลซับน้องดาวอีกแล้วค่ะ (หากใครอ่านเอ็นทรี่ก่อนๆก็คงจะรู้ว่า ซับน้องดาวหมายถึงซับไตเติ้ลภาษาญี่ปุ่นของซีรีย์เรื่องฮอร์โมน เป็นงานที่ทำในวิชา JAP AV ค่ะ) มีอยู่ตอนหนึ่ง ขุ่นแม่ของน้องดาวได้พูดกับน้องดาวว่า "เพ้อเจ้อจริง!" เพื่อนเลยแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 妄想だ!(もうそう)ซึ่งเราสงสัยมากว่าทำไม...อะไรยังไง เพราะปรกติเวลาจะด่าใครสักคนว่าเพ้อเจ้อ เคยได้ยินแต่ด่าว่า くだらない(ไร้สาระ) ไม่เคยได้ยินเจ้า 妄想 ตัวนี้มาก่อน พอลองไปเปิดดิคชันนารีดู ก็เห็นว่า 妄想 เป็นคำนาม มีความหมายว่า wild fantasy (จินตนาการบ้าๆ เพ้อเจ้อ) หรือแม้แต่ hallucination (ภาพหลอน) ได้ด้วย

          เอาล่ะสิ...แล้วมันใช้เป็นคำด่าเพียวๆได้ด้วยเหรอ...ด้วยความสงสัยข้องใจจัด เลยจัดเลย...นั่งเปิด 国語辞典 เลยเจ้า ได้ความดังนี้...

          妄想 =  根拠もなくあれこれと想像すること。ตัวอย่างการใช้ในประโยค คือ 愛されていないと妄想してひとりで苦しむ。(คิดเอาเองช้ำใจเองว่าเขาไม่รัก) ...แหม่ ประโยคตัวอย่างนี้ช่าง...555 (ออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ได้คิดเองนะคะ มาจากดิคล้วนๆ ยืนยันค่ะยืนยัน)

          ส่วน くだらない = まじめに取り合うだけの価値がない (ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์โผชผลอันใด) ตัวอย่างการใช้ในประโยค เช่น くだらない話だ。(เรื่องไร้สาระจริงเว้ย)

          สรุป...妄想 จะให้ความหมายว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ สามารถใช้เป็นคำนาม และกริยา แปลว่าคิดเพ้อเจ้อได้ แต่ก็ยังคิดว่าไม่น่าจะใช้เพียวๆเพื่อด่าใครได้ ส่วน くだらない เป็นคำคุณศัพท์ แน่นอนว่าใช้เพียวๆด่าคนที่ทำตัวไร้สาระได้...แต่พอลองคิดวิเคราะห์ดูให้ดีๆ ทั้งสองคำยังไม่น่าจะกินความหมายคำด่า "เพ้อเจ้อจริง" ของขุ่นแม่น้องดาวได้ 100% เอาล่ะสิทีนี้ทำยังไงดีล่ะ...??

          เรื่องนี้อากู๋เจ้าเดิมมีคำตอบ ^^ 55555

          เหตุเกิดขึ้นเมื่อ...พอเริ่มสิ้นไร้ไม้ตอก เราก็เลยลองเสิร์ชมั่วๆพร้อมกันทั้งสองคำเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผลลัพธ์ที่ได้น่าสะพรึงมาก เพราะเราพบว่า คนญี่ปุ่นใช้สองคำนี้คู่กันเพื่อด่าคนที่คิดเพ้อเจ้อไร้สาระเลยแหละค่ะ...ถูกแล้วล่ะค่ะ คำสองคำนี้ใช้คู่กันได้ กลายเป็น くだらない妄想だ!(คิดอะไรเพ้อเจ้อไร้สาระจริง!)

          ดังนั้น เวลามีใครมาพูดกับคุณว่า เธอๆรู้มั้ยเรามาจากต่างดาวนะ ตอนนี้กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ บลาๆๆฯลฯ (เข้าตัว) ให้ตอบไปเลยว่า 「くだらない妄想だ!」...หยุดเพ้อเจ้อ ทำตัวไร้สาระแล้วไปอ่านหนังสือได้แล้ว! จะสอบแล้วเว้ยย!!


ⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷ






日本語の宇宙人 (ต่างด้าวบนดาวภาษาญี่ปุ่น)
เป็นบล็อกที่มีไว้เพื่อบันทึกประสบการณ์การใช้ภาษาญี่ปุ่น
โดยจะเน้นในเรื่องของการพูดและคำศัพท์
ถือเป็นงานส่วนหนึ่งในวิชา Applied Japanese Linguistic
ของนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

       
         

วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

EP15: อู-มา-มิ!!


EP15: อู-มา-มิ!!


          ท่านผู้ชมครับ...!!! รายการวันนี้ก็ยังคงต่อด้วยเรื่องของการเขียนอีเมล์อีกเช่นเคย แต่คราวนี้ แทนที่จะเป็นอีเมล์ขอโทษด้วยความรู้สึกผิดสุดๆ เราจะมาเขียนอีเมล์แสดงความขอบคุณและชื่นชมกันสุดๆบ้าง โดยโจทย์ที่ได้มาคือ การเขียนแสดงความขอบคุณอาจารย์ที่พาไปเลี้ยงอาหาร...เอาล่ะสิ เป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันสูง (และหวังเป็นอย่างยิ่งให้เกิดขึ้นสูง555) อีกแล้ว มาดูกันซิว่ามนุษย์ต่างดาวอย่างข้าน้อยจะเขียนออกมาอย่างไร??

件名:今日のお食事のお礼‏

田中さとし先生、
今日の昼お食事に誘ってくださり、誠にありがとうございました
とても美味しかったお寿司です。すっかりごちそうになってしまい、恐縮しております。
先生のお蔭様で、ご一緒に楽しい一時を過ごすことができました。それに、先生が話してくださったことは非常に勉強になりました。重ねて御礼申し上げます。
今後このような素晴らしい時間を過ごすことができますようにお願いいたします。
ピッスィニー・ピェングーリアム

         เริ่มจากชื่ออีเมล์เหมือนอย่างเคย เหมือนเดิมค่ะ...ต้องการจะบอกว่าเป็นอีเมล์ขอบคุณเรื่องอาหาร เลยเขียนไปว่า 今日のお食事のお礼 ตรงๆไปเลย
          จากนั้นก็เปิดมาด้วยคำขอบคุณตามแบบฉบับที่(น่าจะ)ดี ของจดหมายขอบคุณ ว่า 誠にありがとうございます。คำนี้ตอนลองเสิร์ชดูเหมือนจะชอบปรากฎในอีเมล์ติดต่อธุรกิจ เลยไม่แน่ใจว่าใช้กับกรณีนี้ได้ด้วยหรือเปล่า
          すっかりごちそうになってしまい、恐縮しております。→ เป็นสำนวนที่เจอในเน็ต น่ารักดี ประมาณว่า เกรงใจจังค่ะที่เผลอกินซะจนหมดเกลี้ยงเลย55
     重ねて御礼申し上げます。คำนี้ชอบมาก ได้มาจากการเรียนอีเมล์ขอโทษครั้งก่อน แปลว่า ขอขอบคุณอีกครั้ง เก๋กว่า もう一度ありがとうございます เยอะเลยใช่มั้ยล่ะ55
          今後このような素晴らしい時間を過ごすことができますようにお願いいたします。ขอสารภาพตามตรงว่าไม่รู้จะลงท้ายจดหมายว่ายังไงดี จะบอกว่าต่อไปขอเลี้ยงก็ดูจะเกินหน้าเกินตาไปหน่อยเลยเลือกใช้ว่า 'อยากจะใช้เวลาร่วมกันกับอาจารย์อีกครั้ง' แทน ซึ่งก็...เอิ่ม ดูเหมือนอยากให้อาจารย์พาไปเลี้ยงอีกในอนาคตยังไงก็ไม่รู้ 555 แต่ไม่รู้ล่ะ ใส่ไปก่อนละกัน

          ทีนี้มาดูคอมเม้นต์จาก อ. ดูบ้าง ก่อนที่จะคอมเม้นต์แบบเฉพาะเจาะจง อ.ได้จัดการแบ่งกลุ่มจดหมายขอบคุณที่พวกเราเขียนออกเป็นกลุ่มคร่าวๆได้แก่ กลุ่มที่ขอบคุณอย่างเดียวจบ,กลุ่มที่ขอบคุณประกอบกับบรรยายความดีใจ, กลุ่มที่ขอบคุณ บรรยายความดีใจ แล้วทิ้งท้ายว่าอยากมีช่วงเวลาแบบนี้อีก และ กลุ่มที่ขอบคุณ บรรยายความดีใจ พร้อมทั้งขอโอกาสให้มีโอกาสได้เลี้ยงอาหารอาจารย์บ้าง
          ทายสิว่าเราอยู่กลุ่มไหน...แท่นแท้นนน แหงล่ะ เป็นกลุ่มที่บอกว่าอยากมีช่วงเวลาแสนสนุกแฮปปี้มีลกับอาจารย์อีกนั่นเอง ฮ่าๆ
          พอคอมเม้นต์แบบเจาะลึก เริ่มตั้งแต่ชื่ออีเมล์ อ.บอกว่าส่วนใหญ่จะใช้เป็น ごちそうさまでした。ありがとうございます。ส่วน お食事のお礼 ของเรามีพบบ้างประปราย...เรื่องนี้อันที่จริงแล้วเราได้ไอเดียมาจากในเว็บค่ะ555 ในเว็บบอกว่า ควรใช้ お食事のお礼 แล้วยิ่งเป็น 今日 ก็จะยิ่งดีเพราะการขอบคุณควรรีบทำภายในวันเดียวกันกับที่ได้รับการทำสิ่งใดให้ ในขณะที่เว็บนั้นบอกว่า ถ้าใช้ชื่อเมล์ประมาณว่า ありがとうございます เนี่ย อาจจะถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอีเมล์ก่อกวนหรืออะไรเทือกนั้นได้ อันนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเชื่อถือได้มากแค่ไหน
          จากนั้นก็โดนเรื่องประโยค 今後このような素晴らしい時間を過ごすことができますようにお願いいたします。จริงๆด้วยค่ะว่าเหมือนอยากให้อาจารย์เลี้ยงอีก ฮ่าๆ แหม...บางทีมันอาจจะออกมาจากในอินเนอร์
          นอกนั้นก็ไม่มีอะไรค่ะเพราะ อ. พูดเจาะของแต่ละคนแบบเร็วๆ ชี้ให้ดูแค่จุดที่พิลึกกึกกือเท่านั้น แต่จุดร่วมที่ทุกคนยังขาดและ อ. แนะนำว่าควรจะมีเป็นอย่างยิ่งเลยก็คือ

          "แอพิโซด (エピソード)" ค่ะ

          เจ้าสิ่งนี้คืออะไร...มันคือ เรื่องราวประกอบนั่นเองค่ะ อ. บอกว่าพวกเราควรมี แอพิโซดของคำว่า 'ความอร่อย' อูมามินั่นเอง ถ้าเราเขียนบรรยายเรื่องราวประกอบลงไปกับคำว่า อร่อย ที่เขียนในอีเมล์ด้วยล่ะก็ จะยิ่งทำให้คนรับอีเมล์ดีใจค่ะ
          ยกตัวอย่างเช่น: "อาหารที่อาจารย์เลี้ยงอร่อยมาก → ถึงขนาดที่ว่ากลับบ้านไปยังไม่อาจลืมเลือนรสชาตินั้นได้ ต้องหาสูตรเมนูอาหารที่ว่ามาลองทำดู แต่ก็สู้ของร้านเขาไม่ได้เลย เลยว่าจะกลับไปทานที่ร้านนั้นอีก
          แต่ก่อนที่ อ. จะเฉลยตัวอย่างนี้ให้ฟังในห้อง แน่นอนว่าตอนที่พวกเราลองฝึกเขียนบรรยายความอูมามินี้ พวกเราเริ่มเขียนจากความไม่รู้อะไรเลยว่าจะต้องพรรณนาออกมาประมาณไหน เลยมีตั้งแต่คนที่บรรยายออกมาแบบน่ารักๆ เช่น อร่อยมากจนเผลอกินหมดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ตัวเลยจ้า, คนที่สามารถไปเขียนโฆษณาขายอาหารได้ เช่น รสชาติของเกลือที่อยู่บนซูชินั้นเหมือนกับรสชาติที่ได้มาจากท้องทะเลแท้ๆ (...อันนี้ฮาจริงอะไรจริง555) หรือคนที่น้ำเน่าบอกว่า อาหารที่ได้ทานวันนี้รสชาติเหมือนฝีมือแม่ที่ไม่ได้พบหน้ากันมานานเป็นเวลากว่าห้าปี และกำลังรอผมเรียนจบกลับบ้านอยู่อย่างใจจดใจจ่อ...เอิ่ม สารภาพก็ได้ ไออันที่น้ำเน่าๆนี้ของเราเองแหละ กรั่กๆๆๆๆ//เขินจุง

          หลังจากที่ขำกับจินตนาการสุดพิสดารของแต่ละคนกันไปแล้ว อ.ก็จัดการสรุปให้ว่า จดหมายขอบคุณที่ดี ควรมีโครงสร้างคือ 
          1.บอกชื่อเรากับ อ. ก่อนว่าเอ็งเป็นใคร เขาจะได้นึกออก เพราะคนเป็นอาจารย์ก็น่าจะมีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ พาไปเลี้ยงข้าวทีละหลายคน 
          2.คำขอบคุณพร้อมด้วยแอพิโซดตามที่ว่าไปข้างต้น และ 
          3.มีคำที่บอกว่า อย่างสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอาจารย์ต่อไป

          ถึงการขอบคุณจะดูเป็นเรื่องง่ายๆที่ใครๆก็น่าจะเขียนได้ เพราะแน่นอนว่าทุกคนเกิดมาย่อมต้องเคยขอบคุณคนอื่น แต่การขอบคุณให้น่าประทับใจต้องอาศัยความจริงใจ+เทคนิคที่ดี ซึ่งได้เรียนรู้เป็นอย่างมากจากการเรียนเขียนอีเมล์ครั้งนี้ค่ะ วันก่อนนั่งคุยกับแม่ แม่บอกว่าตกใจที่อ่านอีเมล์(ภาษาอังกฤษ)ที่คนญี่ปุ่นส่งมาหาเราเรื่องมหาวิทยาลัยแล้วรู้สึกประทับใจมากทั้งๆที่เป็นแค่อีเมล์เรื่องการศึกษาธรรมดาๆ แม่บอกว่าเขาใช้คำดี พูดดี อ่านแล้วรู้สึกดีแล้วก็สบายใจ เราเลยตอบว่า แม่...นี่แหละเทคนิคการเขียนอีเมล์ของคนญี่ปุ่นเขาล่ะ เจ๋งเนอะ

          ตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นมาและได้รับรู้มารยาทอะไรหลายๆอย่างของเขา โดยเฉพาะมารยาทในอีเมล์ เราก็พยายามนำไปใช้ตลอด แม้แต่กับอีเมล์ภาษาไทยที่ใช้คุยงานกับพี่ที่ทำงานพิเศษ เราก็อาศัยหลักที่ได้เรียนมาใช้ตอบค่ะ กลายเป็นคนสุภาพสุขุมทางอีเมล์ขัดกับตัวจริงเลย ฮ่าๆ แต่ก็ยังดีกว่าตอบไปแบบห้วนๆ ทำให้คนอ่านรู้สึกไม่ดีแหละเนอะ

          อีเมล์ไม่ได้มีแค่แบบขอโทษ และขอบคุณเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายต่อหลายแบบ น่าเสียดายที่เวลาในเทอมนี้ใกล้จะหมดลงแล้ว ทำให้ อ.ต้องขอหยุดการเรียนการสอนเรื่องการเขียนอีเมล์ไว้เพียงเท่านี้...ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากค่ะ ;_; เพราะเราชอบมาก และรู้สึกว่ามันมีประโยชน์มากกับหลายด้านของชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะการเรียนภาษา แต่ยังรวมถึงเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วย ต่อจากนี้ไปถ้ามีโอกาสเราตั้งใจว่าจะศึกษาเรื่องนี้ต่ออีกมากๆเพราะรู้ตัวว่ายังอ่อนหัดในหลายๆด้าน เอาให้คำว่า อู-มา-มิ ในอีเมล์ของเราประทับใจคนอ่านไม่รู้ลืมเล้ยย เย้!//ชูมือ





ⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷ






日本語の宇宙人 (ต่างด้าวบนดาวภาษาญี่ปุ่น)
เป็นบล็อกที่มีไว้เพื่อบันทึกประสบการณ์การใช้ภาษาญี่ปุ่น
โดยจะเน้นในเรื่องของการพูดและคำศัพท์
ถือเป็นงานส่วนหนึ่งในวิชา Applied Japanese Linguistic
ของนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

       

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

EP14: ขอโทษครับอาจารย์!! (ภาคต่อ)


EP14: ขอโทษครับอาจารย์!! (ภาคต่อ)

          ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว...คราวนี้เรามาดูจดหมายขอโทษอาจารย์ฉบับแก้ไขแล้วกันดีกว่าา



件名:111223レポートの提出延期のお願い

田中さとし先生、

あけましておめでとうございます。

111223「日本心理学入門」を受講している、文学部3年のピッスィニー・ピェングーリアムと申します。コースの学生名前の番号によれば、私が2番です。

今日(1日1月)外国に住んでいる親戚の訃報が届き、今日から3日1月まで外国で行われたお葬式に参加することになりました。 日本人の思考に関するレポートは2日1月に提出予定があり、できれば提出日に出したいですが、間に合わなさそうです。お詫び申し上げます。もしよろしければ、4日1月にレポートを提出することをお願いできないでしょうか。

年初でお忙しいところ、お手数をおかけして大変申し訳ございません。

次回の講義を楽しみにしております。

ピッスィニー・ピェングーリアム
チュラーロンコーン大学 文学部 3 年
学籍:5440464922

          ฉบับใหม่มีการปรับโครงสร้างตามที่คนญี่ปุ่นได้คอมเม้นท์มาค่ะ คือ เอา あけましておめでとうございます ขึ้นต้นจดหมาย ในส่วนของเนื้อความ นอกจากจะระบุเลขที่ของตัวเองในใบรายชื่อด้วยเพื่อให้อาจารย์สะดวกในการนึกว่าเราเป็นใครแล้ว ยังพูดถึงเรื่องที่ญาติเสียก่อนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แล้วค่อยโยงไปเรื่องวันส่งรายงานซึ่งถือว่าเป็นเรื่องรองเมื่อเทียบกับเรื่องญาติเสียด้วย

          มีการเปลี่ยนแปลงคำศัพท์ คือ คำว่า ข่าวญาติเสีย ใช้ 訃報(が届く)

    รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่น มีการเปลี่ยนหัวข้ออีเมล์ว่า 111223レポートの提出延期のお願い คือ ใส่รหัสวิชาลงไปตามแบบฟอร์มที่ควรทำ และเลือกใช้ 提出延期のお願い ไม่ใช่แค่ お願い เฉยๆเหมือนฉบับเก่าเพื่อเป็นการชี้เฉพาะลงไปเลยว่า ต้องการขอร้องเรื่องการเลื่อนส่งรายงาน นะ

           สุดท้าย มีการใส่คำทิ้งท้ายว่า 次回の講義を楽しみにしております อันนี้ลอกมาจากของคนญี่ปุ่น แต่อาจารย์บอกว่าเราไม่ควรใช้ เพราะอาจารย์เป็น 目上 คนที่ต่ำกว่าจะ 楽しみ กับคนที่สูงกว่าไม่ได้ ถือเป็นความรู้ใหม่อีกแล้วค่ะ

          ฉบับแก้ใหม่จริงๆแล้วก็ยังไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็ค่อนข้างพอใจแล้วล่ะค่ะ แม้จะเทียบกับท่านโน (เพื่อนที่อาจารย์เอามาให้ดูเป็นตัวอย่าง) แล้วแทบไม่เห็นฝุ่น555 เพราะของโนมีรูปแบบหลากหลายครบถ้วน คือมีทั้งการขอโทษที่รบกวนช่วงเวลาในวันหยุดก่อนเริ่มจดหมาย เนื้อความที่อธิบายเหตุผลอย่างละเอียด มีการส่งไฟล์มาก่อน และให้สัญญาว่าจะนำตัวรายงานจริงมาส่งในภายหลังอีกที แถมยังขอโทษตลบท้ายอีกหน ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจจริงได้อย่างดีเยี่ยม ถือเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเราแอบคิดว่า ตัวอย่างชิ้นนี้บางทีอาจจะดีกว่าของคนญี่ปุ่นที่อาจารย์เอามาให้ดูซะอีก 55

          สรุปแล้ว タスク นี้เป็นงานที่สนุกแล้วก็ท้าทายมาก เพราะนอกจากจะอาศัยความสามารถทางภาษาแล้ว ยังต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจและความรู้เชิงวัฒนธรรม มารยาททางสังคมอีก ถือเป็นงานที่มีประโยชน์มาก และสามารถนำไปใช้ได้จริงแน่ๆ ^^ ...ไม่สิ ตอนนี้ก็มีใช้บ้างแล้วประปราย ซึ่งก็อาศัยหลักสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการเขียนอีเมล์นี้แหละค่ะว่าควรจะเขียนอย่างไรบ้าง

          ตอนต่อไปยังคงเป็นเรื่องของอีเมล์อีกเช่นเคย แต่หนนี้ ไม่ใช่การขอโทษ แต่จะเป็นการขอบคุณแล้ว...เอาล่ะสิ จะโหดหินยากง่ายกว่ากันแค่ไหนรอดูตอนหน้านะเจ้า



ⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷ






日本語の宇宙人 (ต่างด้าวบนดาวภาษาญี่ปุ่น)
เป็นบล็อกที่มีไว้เพื่อบันทึกประสบการณ์การใช้ภาษาญี่ปุ่น
โดยจะเน้นในเรื่องของการพูดและคำศัพท์
ถือเป็นงานส่วนหนึ่งในวิชา Applied Japanese Linguistic
ของนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

EP13: ขอโทษครับอาจารย์!!


EP13: ขอโทษครับอาจารย์!!




         วันนี้จะมาอัพ タスク เรื่องการเขียนจดหมายขอโทษอาจารย์ หรือที่เรียกว่า お詫びメール ย้อนหลังกันค่ะ โดยโจทย์ก็คือ "ให้เขียนจดหมายขอโทษอาจารย์ที่ส่งรายงานช้า และขอร้องอาจารย์ให้ช่วยรับรายงาน" ค่ะ แหม่...ช่างเป็นโจทย์ที่มีแนวโน้มได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันสูง ฮ่าๆๆ

และนี่คือจดหมายรอบแรกที่ส่งไปให้อาจารย์ค่ะ

件名:「日本人心理学入門」の授業レポートについてのお願い‏


田中さとし先生、


「日本人心理学入門」を受講している、文学部3年のピッスィニー・ピェングーリアムです。

 3日1月2014年に提出予定がある、日本人の思考に関するレポートのことですが、今日(1日1月)外国に住んでいる親戚の死という便りが届き、2日から6日1月まで外国で行われたお葬式に参加することになりましたので、締め切り後でレポートを提出することをお願いできないでしょうか。

年初でお忙しいところ、お手数をおかけして大変申し訳ございません。

又、あけましておめでとうございます。


チュラーロンコーン大学 文学部  3 年

学籍:544 04649 22

ピッスィニー・ピェングーリアム

ประมาณนี้ค่ะ...เราจะขอเริ่มอธิบายตั้งแต่ชื่อเมล์เลยนะคะ ที่ใช้ชื่อเมล์แบบนี้เพราะคิดว่าจุดประสงค์ของจดหมายคือการ 願い อะไรสักอย่างจากอาจารย์ เลยระบุแบบนั้นลงไปในชื่อเมล์เลย

「日本人心理学入門」を受講している → คำนี้ไม่เคยใช้มาก่อน ตื่นเต้น55 ได้มาจากการเสิร์ชเน็ต ดูดีมีระดับกว่า 勉強している
親戚の死という便りが届き → จะบอกว่ามีข่าวแจ้งว่าญาติเสียค่ะ ข่าวแจ้งมาคือ 便りが届く เป็นแน่แท้ แต่ญาติเสียนี่ไม่รู้จะพูดว่าอะไร เลยถูๆไถๆใส่ว่า 親戚の死 ไปก่อน =_=

年初でお忙しいところ、お手数をおかけして大変申し訳ございません。又、あけましておめでとうございます。→ ชอบตรงนี้มากเลย ดูเป็นคนอัธยาศัยดี คิดถึงใจอาจารย์ แถมมีการอวยพรวันปีใหม่ (คืออวยตัวเองมาก//ก๊ากๆ)

学籍:544 04649 22 → มีการระบุรหัสนิสิตอย่างชัดเจน

จะว่ายังไงดีล่ะ...พูดไปก็เหมือนชมตัวเองสินะ =_=; แต่เราคิดว่างานชิ้นนี้ตัวเองทำออกมาได้ดีถ้าเทียบในมาตรฐานของตัวเอง ไม่คิดว่ามีอะไรควรแก้สักเท่าไหร่ จะมีก็แต่ศัพท์อย่าง ข่าวการเสียชีวิตของญาติที่ยังดูป้ำๆเป๋อๆอยู่

คราวนี้มาดูคอมเม้นต์จากคนญี่ปุ่นดีกว่า...

คนญี่ปุ่นที่ได้อ่านได้ให้ข้อแนะนำมาตามนี้ค่ะ
- ควรเขียนโครงเรื่องจากเรื่องเล็กไปเรื่องใหญ่ คือ ให้พูดถึงเรื่องญาติเสียก่อนแล้วค่อยพูดถึงเรื่องรายงานที่ต้องส่ง
- คำว่าญาติเสีย ใช้ 死 เลยไม่ดี ดูโจ่งแจ้งไป มีศัพท์ที่ใช้เรียกข่าวไม่ดีนี้โดยเฉพาะว่า 訃報 (ふほう)
- ถ้าจะอวยพร おめでとうございます ให้เอาขึ้นต้นจดหมายเลยดีกว่า ไม่ต้องมา 又、おめでとうございます

สรุปว่าโดนแก้เพียบ555 เรายังอ่อนหัดจริงๆแหละเนอะ

ส่วนเรื่องโครงสร้างของจดหมายที่ดี อ.กนกวรรณก็ได้สรุปให้ฟังในห้องว่า จดหมายขอโทษที่ดี ต้องมี 1. คำขอโทษ (แหงล่ะ...และควรขอโทษแต่พอดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป) 2.เหตุผลที่ชัดเจน 3.มาตรการป้องกัน (อันนี้แอบงงเล็กน้อย ถ้าญาติเสียนี่คงบอกมาตรการป้องกันไม่ได้ 55) สิ่งเสริมอื่นๆเช่น ควรเขียนแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่คิดแต่ในมุมมองของตัวเอง เช่น ถ้าจะขอส่ง ก็บอกชัดๆไปเลยว่าจะส่งวันไหน ไม่ใช่ให้อาจารย์คิดเอง และก็ควรเป็นวันที่ไม่นานจากกำหนดส่งเดิมจนน่าเกลียด แล้วถ้าเขียนแบบแสดง Passion ที่มีต่อวิชาที่อาจารย์ท่านนั้นสอนได้ จะดีมาก

โห...ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆอีกเพียบ โดยเฉพาะการเขียนแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรานี่ ไม่ได้เป็นหลักที่ควรปฏิบัติเฉพาะในงานนี้ แต่มีมาตั้งแต่งานชิ้นก่อนๆแล้ว แสดงให้เห็นว่าหลักที่สำคัญที่สุดในการเขียนติดต่อใครสักคนคือการมี 思いやり หรือ ความรู้สึกร่วม เห็นอกเห็นใจ นั่นเองค่ะ เราไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาดีเลิศ ถูกไวยากรณ์เป๊ะทุกระเบียดนิ้ว แต่แค่มีความจริงใจ เข้าอกเข้าใจผู้รับจดหมาย เท่านี้ก็ได้ใจเขาไปกว่าครึ่งแล้ว

ชักจะยาว555 วันนี้ต้องขอหยุดไว้เพียงเท่านี้ เพราะต้องรีบไปเรียนก่อน ไว้ตอนหน้าจะมาอัพจดหมายฉบับแก้นะคะ ^^


ⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷ






日本語の宇宙人 (ต่างด้าวบนดาวภาษาญี่ปุ่น)
เป็นบล็อกที่มีไว้เพื่อบันทึกประสบการณ์การใช้ภาษาญี่ปุ่น
โดยจะเน้นในเรื่องของการพูดและคำศัพท์
ถือเป็นงานส่วนหนึ่งในวิชา Applied Japanese Linguistic
ของนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

EP12: อยากขอวอนให้สายลมช่วยพัดเบาๆผ่านฉันไป :)


EP12: อยากขอวอนให้สายลมช่วยพัดเบาๆผ่านฉันไป :)




ลมอย่าพัดแรงนะคืนนี้ เพราะฉันใจคอไม่ดี หัวใจที่มีมันหนาวสั่น 
เพียงเท่านี้ใจยังเหน็บหนาว ฉันหวังว่าคงสงสารกัน 
อยากขอวอนให้สายลม ให้สายลมช่วยพัดเบาๆผ่านฉันไป...

          ขึ้นต้นซะน้ำเน่าเชียว ฮ่าๆ นี่ไม่ได้มาจากข้อยเองแต่อย่างใด แต่มาจากเพลง ลม ของบัวชมพู ฟอร์ด  ที่เอามาใช้ขึ้นต้นเพราะรู้สึกว่ามันช่างเข้ากันดีกับเนื้อหาในตอนนี้เหลือเกิน :D

          ระหว่างที่กำลังทำงานแปลซับไตเติ้ลภาษาญี่ปุ่นซีรีย์เรื่อง ฮอร์โมน ของวิชา JP AV MEDIA ก็สะดุดเข้ากับประโยคๆหนึ่งที่น้องดาว สาวช่างเพ้อประจำเรื่องเปรยกับตัวเองขณะเขียนนิยายว่า "ลมหนาวพัดผ่านร่างของฉัน..." เอาล่ะสิ ลมพัด นี่คือ 風が吹く เป็นแน่แท้ แต่ลมพัดผ่านร่างล่ะจะต้องพูดว่ายังไง  風が体を吹く ก็ดูไม่น่าจะใช่เนอะ =_= 

          ด้วยเหตุประการฉะนี้ จึงได้ไต่ถามไปยังอากู๋เจ้าประจำ เสิร์ชไปเสิร์ชมาเจอทั้ง 風が体を吹き抜ける ซึ่งดูเข้าทีไม่ใช่น้อย และ 風が体を突き抜ける ...เอ๊ะ แล้วจะใช้คำไหนดีล่ะทีนี้

          พอลองถาม Dict.goo.ne อีกหนึ่งเจ้าประจำดูบ้าง ก็พบว่า

          吹き抜ける = 風が通り過ぎる ตัวอย่างเช่น 北風が路地を吹き抜ける。
    突き抜ける = 突き通って裏まで抜ける และ  向こう側へ通り抜ける ตัวอย่างเช่น 湿地帯をようやく突き抜ける。

          ปรากฎว่าคล้ายกัน ฮ่าๆ ไม่ได้ ไม่ยอม มันต้องมีอะไรต่างกันบ้างสิ พอลองไล่อ่านตัวอย่างในอากู๋ดูเรื่อยๆ ก็โป๊ะเชะ! เริ่มพบความแตกต่างแล้วค่า ^^

          ความแตกต่างที่ว่านั่นก็คือ ในขณะที่เจอผลลัพธ์ 風が体を吹き抜ける เหมือนกันเป็นจำนวนมาก แต่พอเสิร์ชด้วยคำว่า 突き抜ける มักปรากฎคู่กับบริบท เช่น ぞくぞくするような驚きが彼の体を突き抜けた และ 寒い。寒すぎる職場。風が体を突き抜けるようだ。ดังนั้น จึงพออนุมานได้ว่า ถ้าใช้ 突き抜ける จะมีความหมายในเชิง ลมพัดเสียดแทงร่างเพราะเป็นลมที่หนาวยะเยือก อะไรประมาณนี้

          สรุปก็คือ ถ้าจะพูดว่า สายลมพัดผ่านร่างฉัน(เบาๆ)อย่างพี่บัวชมพู ก็ควรใช้ 吹き抜ける แต่ถ้าต้องการบอกว่าลมหนาวพัดผ่านร่างอย่างในกรณีของน้องดาว ก็ควรใช้ว่า 突き抜ける นั่นเองค่ะ :D



ⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷⱷ








日本語の宇宙人 (ต่างด้าวบนดาวภาษาญี่ปุ่น)
เป็นบล็อกที่มีไว้เพื่อบันทึกประสบการณ์การใช้ภาษาญี่ปุ่น
โดยจะเน้นในเรื่องของการพูดและคำศัพท์
ถือเป็นงานส่วนหนึ่งในวิชา Applied Japanese Linguistic
ของนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย